เลนส์ของกล้องดิจิตอล
กล้องดิจิตอลต้องอาศัยเลนส์เช่นเดียวกับกล้องใช้ฟิล์ม เลนส์ของกล้องดิจิตอลทำหน้าที่รวมแสงที่สะท้อนมาจากวัตถุ ทำให้เกิดภาพบน Image Sensor เช่นเดียวกับเลนส์ตาทำหน้าที่รวมแสงให้เกิดภาพ เลนส์ทำหน้าที่ควบคุมมุมการรับภาพ หรือมุมการมองเห็นของอิมเมจเซ็นเซอร์ว่าจะเก็บภาพได้กว้างหรือแคบเพียงไร เลนส์มีผลต่อขนาดวัตถุที่ปรากฏในภาพเลนส์มุมกว้างให้ภาพมุมกว้าง วัตถุที่ปรากฏในภาพมีขนาดเล็ก ส่วนเลนส์ถ่ายไกลให้ภาพที่ปรากฏเป็นมุมแคบๆ เจาะส่วน และขนาดภาพที่ปรากฏจะใหญ่ เลนส์มีผลต่อสัดส่วนของภาพ และเลนส์ทำหน้าควบคุมปริมาณแสง คุณภาพของเลนส์มีผลอย่างมากต่อสีสัน ความคมชัด และรายละเอียดบน Image Sensor เลนส์คุณภาพสูงหรือเลนส์ที่ออกแบบมาสำหรับกล้องดิจิตอลโดยเฉพาะจะให้ภาพที่ดีกว่าเลนส์ทั่วไปมากๆ เมื่อใช้กับกล้องดิจิตอล
เลนส์ของกล้องดิจิตอลและกล้องถ่ายภาพทั่วไปสามารถแบ่งออกเป็นเลนส์ประเภทต่างๆ โดยอาศัยทางยาวโฟกัสของเลนส์ ซึ่งทางยาวโฟกัสคือ ระยะทางระหว่างกึ่งกลางของเลนส์ (ในกรณีที่เป็นเลนส์ชิ้นเดียว) จนถึงอิมเมจเซ็นเซอร์ เลนส์ทางยาวโฟกัสสั้นที่มุมการรับภาพกว้าง เลนส์ทางยาวโฟกัสสูงมีมุมการรับภาพแคบ เลนส์ตัวเดียวกันเมื่อใช้กับอิมเมจเซ็นเซอร์ต่างขนาดกัน มุมการรับภาพก็จะแตกต่างกันออกไปด้วย เช่น เลนส์ 25 มม. เมื่อใช้กับอิมเมจเซ็นเซอร์ขนาด 1/2 นิ้วจะเป็นเลนส์เทเลโฟโต้ แต่เมื่อใช้กับอิมเมจเซ็นเซอร์ขนาด 1.5 นิ้ว กลับกลายเป็นเลนส์มุมกว้าง
1. เลนส์ตาปลา (Fish-eye) คือ เลนส์ที่มีมุมการรับภาพกว้าง 180 องศา ทุกอย่างที่อยู่หน้าเลนส์จะปรากฏลงบนอิมเมจเซ็นเซอร์มี 2 แบบคือ เลนส์ตาปลาแบบวงกลม จะเป็นภาพวงกลมขอบดำ และเลนส์ตาปลาแบบเต็มภาพ (Full-Frame) ขอบภาพที่เป็นเส้นตรงจะบิดโค้งมากๆ เหมาะกับภาพที่ต้องการมุมการรับภาพกว้างมากๆ หรือภาพที่ต้องการความบิดเบือนของเส้นตรง
2. เลนส์มุมกว้าง (Wide-Angle Lens) คือ เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสน้อยกว่าเส้นทแยงมุมของอิมเมจเช็นเซอร์ มีตั้งแต่ให้มุมภาพกว้างมากๆ (Super Wide) และเลนส์มุมกว้างปกติ (Wide) เหมาะสำหรับการถ่ายภาพที่ต้องการมุมภาพกว้างๆ หรือถ่ายภาพกว้างในพื้นที่จำกัด ถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ ภาพหมู่ หรือภาพถ่ายในระยะใกล้ๆ เพื่อให้เกิดความผิดเพี้ยนของสัดส่วน
3. เลนส์เทเลโฟโต้ (Telephoto) คือ เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสสูงกว่าเส้นทแยงมุมของอิมเมจเซ็นเซอร์ มุมการรับภาพจะแคบ เหมาะกับการถ่ายภาพระยะไกลให้ดูใกล้ ภาพในลักษณะแอบถ่ายจากระยะไกล ภาพสัตว์ป่า ภาพบุคคล ฯลฯ เลนส์ถ่ายไกลยังแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ Telephoto และ Super Telephoto
4. เลนส์มาตรฐาน (Normal Lens) คือ เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสเท่ากับเส้นทแยงมุมของอิมเมจเช็นเซอร์ ใช้ในการถ่ายภาพทั่วๆ ไป
5. เลนส์ซูม (Zoom Lens) คือเลนส์ที่สามารถเปลี่ยนทางยาวโฟกัสได้ในตัวเดียวกัน สามารถให้ภาพกว้างและแคบได้ เป็นเลนส์ที่นิยมใช้กันมากที่สุดในปัจจุบัน เนื่องจากสะดวกและยังให้คุณภาพที่ดียอมรับได้ สามารถแบ่งออกเป็นหมวดย่อยๆ เช่น เลนส์ซูมมุมกว้าง เลนส์ซูมเทเลโฟโต้ เลนส์ซูมมุมกว้าง-เทเลโฟโต้ ส่วนเลนส์ที่ไม่สามารถเปลี่ยนทางยาวโฟกัสได้เรียกว่าเลนส์เดี่ยว (Fixed Focal Length Lens) จะให้คุณภาพที่ดีกว่าเลนส์ซูม แต่ไม่สะดวกในการใช้งานเท่าไรนัก เหมาะกับการถ่ายภาพคุณภาพสูงมากๆ เป็นหลัก
นอกจากการแบ่งตามความยาวโฟกัสของเลนส์แล้ว ยังแบ่งเลนส์ออกเป็นหมวดย่อยๆ ตามลักษณะพิเศษของเลนส์ได้ เช่น
1. เลนส์มาโคร (Macro Lens) คือ เลนส์ที่ออกแบบให้ใช้ถ่ายภาพในระยะใกล้กว่าปกติ ซึ่งเลนส์ทั่วไปจะไม่สามารถถ่ายภาพในระยะใกล้มากๆ ได้ เช่น เลนส์ 105 มม.มาโคร 200 มม.มาโคร
2. เลนส์ Soft เป็นเลนส์ที่ออกแบบมาสำหรับการถ่ายภาพบุคคล สามารถทำให้ภาพนุ่มๆ ได้และปรับระดับความนุ่มนวลได้อีกด้วย เช่น 135 มม.F/2 DC
3. เลนส์กระจก (Mirror Lens) เป็นเลนส์ที่ใช้กระจกสะท้อนภาพแทนชิ้นเลนส์ใส เพื่อลดขนาดเลนส์และทำให้เลนส์มีต้นทุนถูกลง เช่น 500 มม. f/8 Mirror แต่คุณภาพของภาพถ่ายที่ได้จะไม่ดีเท่าไรนัก
4. เลนส์ควบคุมสัดส่วนของภาพ (Perspective Control Lens) เป็นเลนส์ที่สามารถแก้การบิดเบือนของภาพ ใช้ในการถ่ายภาพงานสถาปัตยกรรม ภาพทิวทัศน์ที่ต้องการความสมจริง หรือใช้ในการเปลี่ยนแปลงระนาบความคมชัดเพื่อให้ได้คามชัดลึกสูงสุด เช่น 28 มม.PC
5. เลนส์ป้องกันความสั่นไหวของภาพ (Vibration Control Lens) เป็นเลนส์ที่มีกลไกพิเศษช่วยป้องกันการสั่นไหวของภาพได้ เหมาะกับการถ่ายภาพในที่สภาพแสงน้อยๆ หรือภาพที่ต้องการใช้ความเร็วชัดเตอร์ต่ำ เพื่อป้องกันการสั่นไหวของมือ แต่ไม่สามารถชดเชยการเคลื่อนที่ของวัตถุได้
6. เลนส์แก้ความคลาดสี (Aporhromatic Correction Lens) มักใช้ชื่อทางการค้าว่า ED, L, APO คือ เลนส์ที่ใช้ชิ้นเลนส์พิเศษที่มีการกระจายแสงต่ำ ดัชนีหักเหสูง (High Reflexive Index Low Dispersion Glass) เพื่อลดความคลาดสีบริเวณขอบภาพ ทำให้ภาพมีความคมชัดสีสันสมจริงมากยิ่งขึ้น
7. เลนส์แก้ความคลาดทรงกลม เป็นเลนส์ที่ใช้ชิ้นเลนส์พิเศษที่ผิวหน้าไม่เป็นทรงกลม เรียกว่าชิ้นเลนส์ Aspherical Lens (เลนส์ปกติผิวหน้าจะเป็นทรงโค้งวงกลม) เพื่อแก้แสงบริเวณของภาพให้ตกในระนาบเดียวกันทำให้ภาพกลางภาพและขอบภาพมีความคมชัดใกล้เคียงกัน ซึ่งมักใช้ในเลนส์มุมกว้างและเลนส์ซูมคุณภาพสูง
เลนส์สำหรับกล้องดิจิตอลแบบคอมแพคจะเป็นเลนส์ซูมมุมกว้างเทเลโฟโต้ เพื่อให้ใช้งานได้หลายหลาย ส่วนเลนส์สำหรับกล้องดิจิตอลแบบ SLR จะเป็นเลนส์ที่สามารถถอดเปลี่ยนได้ จะเป็นเลนส์เดี่ยวหรือซูมขึ้นกับผู้ซื้อ การเลือกควรดูว่าจะนำไปใช้งานอย่างไร เพราะเลนส์แต่ละเลนส์ประเภทมีจุดประสงค์และจุดเด่นในการใช้งานที่แตกต่างกัน โดยทั่วไปควรมีเลนส์ตั้งแต่มุมกว้างปานกลาง (0.25เท่าของเส้นทแยงมุมของเซ็นเซอร์) ไปจนถึงเทเลโฟโต้ปานกลาง (4เท่าของเส้นทแยงมุมของเซ็นเซอร์) ซึ่งทางยาวโฟกัสจะเป็นเท่าไรนั้นขึ้นกับว่าขนาดอิมเมจเซ็นเซอร์มีขนาดเท่าไร ไม่สามารถระบุได้ ต้องดูกล้องเป็นรุ่นๆ ไป
กล้องดิจิตอล มักจะระบุทางยาวโฟกัสของเลนส์ไว้ 2 แบบ คือ ทางยาวโฟกัสที่แท้จริง กับทางยาวโฟกัสเทียบเท่ากล้อง 35มม. ที่ใช้ฟิล์มขนาด 135 ภาพ ขนาด 24x36 มิลลิเมตร เช่น เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัส 5-40 มม. จะเทียบเท่าเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัส 25-200 มม. เป็นต้น
ทางยาวโฟกัสของเลนส์สำหรับกล้องดิจิตอล SLR มักบอกทางยาวโฟกัสเป็นค่าทางยาวโฟกัสเทียบเท่ากับกล้องฟิล์ม 135 และระบุตัวคูณทางยาวโฟกัส เช่น 1.7 เท่า เพื่อให้ทราบว่าเมื่อนำเลนส์ไปใช้กับกล้องดิจิตอลจะมีขนาดทางยาวโฟกัสเท่าไร เช่น เลนส์ 50 มม. เมื่อนำไปใช้กับกล้องดิจิตอล 1.5 เท่า จะกลายเป็นเลนส์ขนาด 75 มม. เป็นต้น
ระบบต่างๆ ของกล้องดิจิตอล
1. การกำหนดขนาดภาพ (Image Size) ขนาดภาพของกล้องดิจิตอล คือ จำนวน Pixels ในภาพที่บันทึกลงบนการ์ดเก็บข้อมูล ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบใหญ่ๆ คือ
1. จำนวน Pixels บน Image Sensor หมายถึงจำนวน Pixels ทั้งหมดที่อยู่บน Image Sensors
2. จำนวน Pixels ที่ถูกใช้งานในการบันทึกภาพ ซึ่งจะเรียกว่า “Effective Pixels” จำนวน Effective
Pixels จะน้อยกว่าจำนวน Pixels ทั้งหมดบน Image Sensor บางครั้งเราเรียกว่า “Optical Resolution”
3. จำนวน Pixels ที่บันทึกลงบนภาพ มักเรียกว่า “Recording Pixels” หรือ “Output Pixels” เป็นจำนวน Pixels จริงที่จะถูกบันทึกลงบนการ์ดเก็บข้อมูลโดยจะมีจำนวนใกล้เคียงกับ Effective Pixels แต่กล้องบางตัวอาจจะมี Recording Pixels มากกว่า Effective Pixels ถึง 1.5 หรือ 2 เท่า ซึ่งจำนวน Pixels ที่เพิ่มขึ้นมานั้นจะได้จากการจำลองข้อมูลจาก Effective Pixels ขึ้นมาเพื่อให้ภาพมีจำนวน Pixels มากขึ้น แต่คุณภาพโดยรวมจะไม่เพิ่มขึ้น
การเลือกซื้อกล้องดิจิตอลหรือการเลือกขนาดความละเอียดของภาพมาใช้งาน จะพิจารณาจากจำนวน Effective Pixels โดยกล้องที่มีจำนวน Effective Pixels มากมีแนวโน้มว่าจะมีคุณภาพดีกว่ากล้องที่มีจำนวน Effective Pixels น้อย แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของ Image Sersor ขนาด Photo detector ความลึกสี ระบบประมวลผล เลนส์ และส่วนประกอบอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
กล้องดิจิตอลส่วนใหญ่จะเลือกจำนวน Pixels ในการถ่ายภาพได้หลายค่า เช่น กล้องขนาด 5 ล้านพิกเซล อาจจะเลือกถ่ายภาพได้ที่ 5 ล้านพิกเซล, 3 ล้านพิกเซล, 1 ล้านพิกเซล และ 7 แสนพิกเซล โดยทั่วไปเราสามารถเข้าไปเลือกความละเอียดของภาพได้โดยการเข้าไปที่ Menu (หรือ Setting) แล้วเข้าไปที่ Image Size (หรือ Quality) จะปรากฏเมนูในการตั้งความละเอียดของภาพขึ้น
โดยทั่วไปภาพที่มีจำนวน Pixels มาก จะสามารถนำไปขยายภาพขนาดใหญ่ได้ดีกว่าภาพที่มีจำนวน Pixels น้อย โดยให้ความละเอียดและความคมชัดที่ดีกว่า ภาพแตกเป็นสี่เหลี่ยมได้ยากกว่า แต่จำนวน Pixels ที่มากกว่าต้องใช้เนื้อที่ของหน่วยความจำในการเก็บข้อมูลมากกว่า สิ้นเปลืองพลังงานในการประมวลผลมากกว่า กล้องทำงานช้ากว่า ทั้งการเก็บข้อมูลและการเรียกดูภาพบนการ์ดเก็บข้อมูล การตั้งความละเอียดไว้สูงสุดอาจจะไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดในการบันทึกภาพด้วยกล้องดิจิตอล เรามีวิธีการในการเลือกความละเอียดของภาพโดยพิจารณาจากการนำภาพไปใช้งาน
1. ถ้าต้องการถ่ายภาพเพื่อส่ง E-Mail หรือใช้ทำ Presentation ในคอมพิวเตอร์ ความละเอียด 1 ล้านพิกเซลถือว่าเพียงพอ
2. ต้องการไปใช้งานพิมพ์ งานอัดขยายภาพด้วยเครื่อง Printer คุณภาพสูง (Photo Quality) ควรดูว่าจะขยายภาพขนาดเท่าไร จากนั้นเอาขนาดภาพคูณด้วย 300 จะได้ขนาดความละเอียดภาพที่ควรจะตั้ง เช่น ขยายภาพขนาด 4x6 ควรตั้งที่ความละเอียด 4x300, 6x300= 1200x1800 Pixels = 2.16 ล้านพิกเซล
ถ้าอัตราขยายภาพสูงมากๆ แต่กล้องไม่สามารถตั้งความละเอียดตามที่ต้องการได้ ก็ควรตั้งความละเอียดไว้ที่สูงสุดเท่าที่กล้องจะสามารถทำได้ ซึ่งภาพที่ได้อาจจะแตกและมีคุณภาพไม่ดีนัก (เมื่อมองในระยะใกล้มากๆ)
3. ใช้งานพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์แบบ Inkjet ให้ใช้ขนาดภาพที่ต้องการใช้งานคูณด้วย 150 แต่ถ้าเป็นเครื่อง Inkjet ที่มีความละเอียดสูงมากๆ ต้องคูณด้วย 300
กล้องดิจิตอลในระดับ Consumer ในปัจจุบันนั้นมีความละเอียดประมาณ 3 ล้านพิกเซล สามารถอัดขยายภาพขนาด 4x6 นิ้ว (4R) จนถึง 8x10 นิ้ว (8R) ได้อย่างมีคุณภาพ ส่วนกล้องในระดับ Prosumer มีความละเอียดประมาณ 4-5 ล้านพิกเซล สามารถขยายภาพขนาด A4 (8.25x11.5 นิ้ว) ได้ และกล้องดิจิตอลระดับ Pro ความละเอียด 6 ล้านพิกเซลสามารถขยายภาพขนาด A4 ถึง 10x15 นิ้วได้สบายๆ โดยเฉพาะรูปที่ถ่ายในระยะใกล้ เช่น รูปสินค้า รูปบุคคลครึ่งตัว แต่ถ้าเป็นรูประยะไกลซึ่งต้องการความละเอียดสูงมากๆ จะยังทำได้ไม่ดีเท่าไรนัก
2. การกำหนดคุณภาพของภาพ (Image Quality)
กล้องดิจิตอลโดยทั่วไปจะเก็บภาพในรูปแบบ Photoshop, TIFF File, JPEG File หรือ RAW File คุณภาพของภาพที่ได้จากไฟล์แบบต่างๆ จะมีคุณภาพแตกต่างกันออกไป เรียกคุณภาพที่เกิดจากรูปแบบการเก็บข้อมูลนี้ว่า Image Quality สามารถเข้าไปตั้งค่า Image Quality ได้โดยการเข้าไปที่ Menu (หรือ Setting) แล้วเข้าไปที่ Image Quality ซึ่ง Image Quality มักจะแบ่งออกเป็นระดับคือ
1. High จะเก็บภาพแบบ TIFF File 8 bit/color ซึ่งจะไม่มีการบีบอัดข้อมูล ทำให้ได้คุณภาพสูงสุดจากกล้องตัวนั้น แต่จะใช้เนื้อที่การเก็บภาพมาก ไฟล์มีขนาดใหญ่ ประมวลผลช้า เปลืองพลังงาน และทำให้ใช้ระบบการถ่ายภาพบางอย่างไม่ได้ หรือได้น้อยลง เช่น ระบบถ่ายภาพต่อเนื่อง เป็นต้น เหมาะสำหรับการเก็บภาพที่ต้องการคุณภาพสูงสุด
2. Fine, Normal, Basic จะเก็บภาพในรูปแบบของ JPEG File 8 bit/color ซึ่งมีการบีบอัดข้อมูล ทำให้เกิดการสูญเสียคุณภาพของภาพไป โดยที่ Fine จะบีบอัดข้อมูลน้อยที่สุดไฟล์มีขนาดใหญ่กว่า และ Basic บีบอัดข้อมูลมากที่สุด และไฟล์มีขนาดเล็กที่สุด โดยทั่วไปหากใช้ภาพเพื่องานอัดขยาย แนะนำให้ตั้ง Fine แต่ถ้าต้องการเก็บภาพลงซีดี หรือใช้กับคอมพิวเตอร์ แนะนำให้ใช้ Normal และถ้าต้องการใช้ส่ง E-Mail แนะนำให้ใช้ Basic ทั้งนี้ขึ้นกับขนาดของการ์ดเก็บข้อมูลและจำนวนภาพที่ต้องการบันทึก
3. RAW เป็นไฟล์เฉพาะซึ่งต้องอาศัยโปรแกรมเฉพาะของกล้องในการเปิด ไม่สามารถใช้โปรแกรมทั่วไปในการเปิดได้ RAW File เป็นข้อมูลดิจิตอลที่มาจาก Image Sensor ไม่ผ่านการปรับแต่งใดๆ จาก Processor ของตัวกล้อง ทำให้ได้คุณภาพที่แท้จริงจากกล้องตัวนั้นๆ โดยเฉพาะการไล่ระดับโทนสี หรือ Bit Depth กล้องดิจิตอลในปัจจุบันจะมีความลึกสีประมาณ12 bit/color แต่เมื่อเก็บภาพเป็น TIFF File จะถูกบีบลงเหลือ 8 bit/color เท่านั้น การเก็บเป็น RAW File จึงทำให้จำนวนเฉดสีที่มากกว่า เมื่อเปิดด้วย Software เฉพาะ จะสามารถปรับแต่งสี ความคมชัดและคุณภาพอื่นๆ ได้ จากนั้นถึงจะเปลี่ยน RAW File ไปเป็น TIFF File และ JPEG File เพื่อการนำไปใช้งานอื่นๆ ต่อไป
มืออาชีพจำนวนมากที่นิยมถ่ายภาพด้วย RAW File และเก็บภาพต้นฉบับลง CD แบบ RAW File เนื่องจากไม่สูญเสียคุณภาพ โดยเฉพาะความลึกสี (Bit Depth) สามารถใช้ Software ในการปรับคุณภาพภายหลังได้ ปรับภาพได้หลากหลายรูปแบบ และแก้ไขใหม่ได้ถ้าไม่พอใจ และถ้าภายหลังมี software รุ่นใหม่ออกมา ก็จะทำให้ภาพมีคุณภาพดีขึ้นด้วย ในขณะที่การเก็บแบบ TIFF File หรือ JPEG ไม่สามารถปรับเปลี่ยนคุณภาพของภาพในภายหลังได้ เมื่อจะใช้งาน จึงค่อยแปลง RAW File เป็น TIFF หรือ JPEG
3. การตั้งความไวแสง
กล้องดิจิตอลไม่มีความไวแสงที่แท้จริง ความไวแสงที่มีให้ปรับตั้งนั้นเป็นความไวแสงเทียบเคียง (ISO Equivalents) เมื่อเทียบกับฟิล์มถ่ายภาพ ความไวแสงของกล้องดิจิตอลจะสามารถปรับตั้งได้หลายค่า มีตั้งแต่ ISO100 ไปจนถึง ISO3200 แล้วแต่รุ่นกล้องความไวแสงสูงจะช่วยให้สามารถใช้ขนาดช่องรับแสงแคบและความเร็วชัตเตอร์สูงมากๆ ได้ ถ่ายภาพในสภาพแสงน้อยได้สะดวก การตั้งความไวแสงของกล้องดิจิตอลส่วนใหญ่จะอยู่ที่ MENU > ISO
แต่จะเกิดปัญหาภาพมีสัญญาณรบกวนสูง เนื่องมาจากการเพิ่มความไวแสง กล้องจะต้องเพิ่มสัญญาณไฟฟ้าเข้าไปในระบบ ทำให้สัญญาณรบกวนสูงตามไปด้วย ผู้ผลิตกล้องดิจิตอลปัจจุบันพยายามแก้ปัญหาสัญญาณรบกวน โดยการออกแบบวงจรหรือใช้ระบบประมวลผลเพื่อลดสัญญาณรบกวนลงให้เหลือน้อยที่สุด ผลจากสัญญาณรบกวนทำให้ภาพขาดความคมชัด สีไม่อิ่มตัว คล้ายๆ กับเกรนแตกในฟิล์มความไวสูง โดยจะเห็นได้ชัดบริเวณส่วนสีทึบหรือส่วนมืดของภาพ
ควรใช้ความไวแสงต่ำที่สุดเท่าที่ยังสามารถถ่ายภาพได้ในขณะนั้นจะได้ภาพที่ดีสุด
4. การตั้งระดับความคมชัด
กล้องดิจิตอลบางรุ่นสามารถตั้งความคมชัดของภาพได้หลายระดับ โดยการเข้าไปที่ Menu > Sharpness สามารถเลือกความคมชัดได้ 3 ระดับคือ Normal คมชัดปานกลาง, Soft ไม่ปรับความคมชัด และ Hard (Sharp) ปรับความคมชัดสูงสุด โดยปกติจะปรับความคมชัดเอาไว้ที่ Normal ยกเว้นการถ่ายภาพบุคคลที่ต้องการความนุ่นนวล จะปรับเอาไว้ที่ Soft แล้วถ้าเป็นภาพสินค้า ภาพวิวหรือภาพในระยะไกล จะปรับความคมชัดไว้ที่ Hard ความคมชัดของกล้องดิจิตอลเกิดจากการใช้ Software เมื่อสั่งเพิ่มความคมชัดมากๆ จะเกิดขอบคล้ายๆ กับการใช้คำสั่ง Sharpen ใน Filter ของ Photoshop
5. ความอิ่มตัวของสี (Color Saturation)
ในกล้องดิจิตอลระดับกลางบางรุ่น และกล้องดิจิตอลระดับมืออาชีพ สามารถตั้งความอิ่มตัวของสีได้ โดยการเข้าไปที่ Menu > Color ระดับความอิ่มตัวของสีจะมีให้เลือก 4 ระดับคือ High ความอิ่มตัวของสีสูงสุด, Normal ความอิ่มตัวของสีปานกลาง, Original ไม่มีการปรับความอิ่มตัวของสี และ B&W ภาพขาวดำ โดยปกติจะตั้งความอิ่มตัวของสีเอาไว้ที่ Normal ยกเว้นกับภาพที่ต้องการความจัดจ้านของสีมากๆ จะตั้งไว้ที่ High ภาพบุคคลมักตั้งเอาไว้ที่ Original เพื่อไม่ให้สีผิวจัดจ้านเกินไป และถ้าต้องการภาพขาวดำตั้งที่ B&W
การปรับความอิ่มตัวของสีมากๆ จะทำการไล่ระดับโทนสีของภาพลดลงเล็กน้อย สีผิวจะเปลี่ยนไป และภาพดูกระด้างขึ้นในบางภาพเหมาะกับการถ่ายภาพวิว หรือภาพสินค้าที่ต้องการสีสดๆ
6. การตั้งระดับความเปรียบต่าง (Contrast, Tone)
กล้องดิจิตอลในรุ่นปานกลางถึงรุ่นสูงจะสามารถตั้งค่าความเปรียบต่างของภาพได้ โดยการเข้าไปที่ Menu > Contrast โดยปกติค่าความเปรียบต่างจะถูกตั้งไว้ที่ Normal หรือปานกลาง ผู้ใช้สามารถลดหรือเพิ่มความเปรียบต่างของภาพได้ โดยการเลือกไปที่ High หรือ Low
การปรับตั้งความเปรียบต่างจะมีประโยชน์มาก โดยเฉพาะการถ่ายภาพนอกสถานที่ซึ่งไม่สามารถควบคุมความแตกต่างของแสงได้ ผู้ใช้สามารถตั้งความเปรียบต่างของภาพที่กล้องเพื่อชดเชยความเปรียบต่างที่มากหรือน้อยเกินไปของสภาพแสงได้ เช่น ถ่ายภาพในสภาพแสงครึ้มฟ้าครึ้มฝน ความแตกต่างของแสงในส่วนมืดและสว่างจะน้อยมาก ภาพที่ได้จะมีความเปรียบต่างต่ำ ส่วนขาวไม่ขาว และส่วนดำไม่ดำ ภาพดูเทาไปหมดทั้งภาพ เราสามารถแก้ไขโดยการเพิ่มความเปรียบต่างของภาพไปที่ High ความเปรียบต่างของภาพจะสูงขึ้น ภาพจะมีสีสัดดีขึ้น ในทางตรงกันข้าม หากไปถ่ายภาพที่มีความแตกต่างของภาพจะสูงมากๆ เช่น การถ่ายภาพในอาคารย้อนออกไปภาพนอก ความแตกต่างของแสงส่วนมืดและสว่างจะสูงมาก ทำให้ส่วนสว่างและส่วนมืดไม่มีรายละเอียด สามารถแก้ไขได้โดยการปรับความเปรียบต่างที่ตัวกล้องไปที่ Low กล้องจะลดความเปรียบต่างของภาพลด และได้รายละเอียดในส่วนมืดและสว่างมากยิ่งขึ้น
การตั้งความเปรียบต่างให้เหมาะสมกับภาพแต่ละลักษณะเป็นประโยชน์มากในการใช้งานกล้องดิจิตอล และเป็นสิ่งที่ทำให้กล้องดิจิตอลได้เปรียบกล้องใช้ฟิล์ม เพราะฟิล์มไม่สามารถเปลี่ยนความเปรียบต่างไปมาในแต่ละภาพได้ ต้องไปเปลี่ยนในขั้นตอนการอัดขยายภาพโดยการเลือกความเปรียบต่างของกระดาษ
ฉบับหน้ามาต่อกันที่ความเร็วชัตเตอร์และรูรับแสงครับ
หมายเหตุ บทความนี้คัดลอกมาจากนิตยสาร FOTOINFO MAGAZINE No.3: มิถุนายน 2548
WELCOME !
สวัสดีครับ
หลายคนที่เข้ามา Blog ผม อาจจะสงสัยว่า
ทำไม Blog นี้ มีแต่เรื่อง กล้อง
ก้คือ ผมชอบมันนะครับ : )
หลายคนที่เข้ามา Blog ผม อาจจะสงสัยว่า
ทำไม Blog นี้ มีแต่เรื่อง กล้อง
ก้คือ ผมชอบมันนะครับ : )
มด macro
ตั๊กแตน macro
21 มกราคม 2551
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น